ปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อยที่สุดในงานอุตสาหกรรม

by admin
63 views

ปัญหาสุขภาพในโรงงานอุตสาหกรรม ที่พบได้บ่อยที่สุดมีอะไรบ้าง

นอกจากอาการบาดเจ็บต่าง ๆ อุบัติเหตุ และอันตรายจากการทำงานมากมายหลายรูปแบบแล้ว สิ่งที่เราจะต้องระมัดระวังก็คือเรื่องของปัญหาสุขภาพในที่ทำงาน เพราะแม้ว่าคุณจะเคร่งครัดด้านความปลอดภัยมากแค่ไหน แต่ปัญหาด้านร่างกายของคนทำงานนั้นไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้จริง ๆ ทุกคนมีโอกาสที่จะมีปัญหาด้านสุขภาพได้ทุกเมื่อ ดังนั้นวันนี้เราจะพาคุณไปทำความรู้จักกับ ปัญหาสุขภาพในโรงงานอุตสาหกรรม ที่เกิดขึ้นบ่อยในการทำงาน เพื่อที่จะได้เตรียมตัวรับมือและแก้ไขปัญหาได้ถูกต้อง

ปัญหาระบบทางเดินหายใจ

ปัญหาระบบทางเดินหายใจ

  • หากคุณเป็นอีกหนึ่งคนที่ทำงานกับอุตสาหกรรมก่อสร้าง หรืองานด้านทำความสะอาด ซึ่งมีฝุ่นจำนวนมาก คุณก็จะมีความเสี่ยงที่จะสูดฝุ่นเหล่านั้นเข้าไปในปอดได้ง่าย ๆ เลย แม้ว่าจะสวมใส่ PPE แล้วก็อาจจะยังไม่พอ เพราะฝุ่นภายในอุตสาหกรรมการทำงานนั้นมีส่วนผสมที่ละเอียดและเป็นพิษต่อร่างกาย เช่น เส้นใยสังเคราะห์ ดิน หิน ทราย เถ้าจากการเผาไหม้ต่าง ๆ ซึ่งมีโอกาสนำไปสู่โรคทางเดินหายใจนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็น ปอดติดเชื้อ โรคปอดเรื้อรัง โรคหอบหืด 

ดังนั้นนอกจากลูกจ้างที่ต้องป้องกันตัวเองโดยการสวมใส่ PPE ที่ได้มาตรฐานแล้ว นายจ้างก็มีหน้าที่ที่จะต้องตรวจสอบ PPE เหล่านั้นว่าสามารถป้องกันได้จริงหรือไม่ และจะต้องตรวจสอบเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ ในการทำงาน ให้ได้มาตรฐาน เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับลูกจ้าง

การเคลื่อนย้ายวัตถุที่มีน้ำหนักมาก 

การเคลื่อนย้ายวัตถุที่มีน้ำหนักมาก 

  • การทำงานภายในอุตสาหกรรมหรือโรงงานเราจะหลีกเลี่ยงการยกของที่มีน้ำหนักมากไม่ได้เลย แม้ว่าในปัจจุบันนี้เราจะมีเทคโนโลยีทุ่นแรงและอำนวยความสะดวกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น รถยก เครื่องทุ่นแรงยกของหนัก ฯลฯ แต่ในงานระดับจุลภาค หรือการทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ต้องยกของอยู่ดี ซึ่งหลาย ๆ ครั้งการยกของที่มีน้ำหนักเยอะก็สามารถนำไปสู่โรคเรื้อรังได้หลายโรค เช่น หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท อาการปวดกล้ามเนื้อ เอ็น กระดูกอ่อน 
  • ซึ่งเราสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาเหล่านี้ได้โดยการจัดท่าทางในการเดิน ท่าทางในการยกของหรือทำงานให้ถูกต้อง ซึ่งจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านสรีระศาสตร์คอยให้คำแนะนำ เช่น การยกของการยืนตรง และให้หลังแบกรับแรง แต่ความจริงแล้วเราจำเป็นต้องอาศัยแรงจากขาและแกนกลางร่างกายช่วยพยุงด้วย ไม่งั้นกระดูกบริเวณหลังและคอจะแบกรับน้ำหนักที่เยอะมาก หากยกของผิดวิธีติดต่อกันนาน ๆ อาจจะเกิดภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทได้
  • วิธีการป้องกันคือการสวมใส่เสื้อพยุงหลัง เข็มขัดพยุงหลังที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ ดังนั้นเหมือนกับข้อที่แล้วเลย นายจ้างจะต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าอุปกรณ์พยุงหลังของลูกจ้างนั้นใช้งานได้จริง และ ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยสากล

อันตรายจากเสียง

อันตรายจากเสียง

  • การได้ยินเสียงดัง หรือเสียงที่มีค่าเดซิเบลมากกว่าที่ร่างกายมนุษย์รองรับไหว ในช่วงแรกคุณอาจจะไม่รู้ตัว หรือไม่ได้รู้สึกถึงอันตรายอะไร แต่ความจริงแล้วร่างกายและสมองของคุณกำลังได้รับผลกระทบจากเสียงดังอย่างช้า ๆ หากคุณฟังเสียงซ้ำ ๆ เดิม ๆ ในระดับเสียงที่อันตรายทุก ๆ วันเป็นเวลาหลายเดือนหลายปี อาจจะทำให้คุณมีภาวะหูดับ และมีผลกระทบต่อสุขภาพจิต ทำให้ขาดสมาธิในการทำงาน และก่อให้เกิดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุต่าง ๆ ได้

ภาวะผิดปกติจากการสั่นสะเทือนมือและแขน

  • เป็นภาวะที่เกิดจากการสัมผัสกับวัตถุที่สั่นสะเทือนรุนแรง เช่น เครื่องจักรต่าง ๆ ยานพาหนะ โดยเมื่อคุณสัมผัสกับวัตถุเหล่านี้เป็นเวลานาน ก็จะเกิดความผิดปกติภายในกล้ามเนื้อ เส้นประสาท เส้นเลือด ซึ่งจะส่งผลให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง และมีโอกาสถูกทำลายเส้นประสาท มีอาการไม่สามารถควบคุมร่างกายตัวเองได้ มีอาการเสียวตามกล้ามเนื้อ และสูญเสียความรู้สึกไปในที่สุด  วิธีการป้องกันก็คือ การสวมใส่ถุงมือป้องกันการสั่นสะเทือน และมีการพักระหว่างการทำงานเป็นระยะ ๆ 
  • จากปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมา เป็นปัจจัยก่อโรคและการเจ็บป่วยต่างๆ ในโรงงานอุตสาหกรรมปัจจุบัน ซึ่งถ้าพิจารณาจากประเทศไทย ก็จะเห็นว่ารูปแบบของการเกิดโรคเปลี่ยนไป อัตราตายด้วยอุบัติเหตุ โรคมะเร็ง โรคหัวใจ และหลอดเลือด โรคจากสารพิษ โรคจากการทำงาน โรคจากมลพิษและโรคไม่ติดต่ออื่นๆ เพิ่มสูงขึ้น ปัจจุบันจึงมีนโยบายในการช่วยรณรงค์การจัดกิจกรรมต่างๆ ภายในโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อเสริมสร้างสุขภาพที่ดีให้แก่พนักงาน

โดยทั่วไปลักษณะของกิจกรรมในด้านการส่งเสริมสุขภาพ มักจะมีลักษณะดังนี้คือ

  1. ใช้ความรู้ทางด้านสุขภาพขั้นพื้นฐาน โดยการใช้วัตถุดิบหรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่มีอยู่ในโรงงาน หรือสนับสนุนจากสถานบริการทางด้านสาธารณสุขที่มีอยู่ในพื้นที่ และให้องค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องที่มีอยู่ในพื้นที่มาเข้าร่วมสนับสนุนโครงงาน เช่น โรงพยาบาล ชุมชน สถานีอนามัย แรงงานจังหวัด เป็นต้น
  2. ส่งเสริมให้คนงานระดับต่างๆ ของโรงงานเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งในด้านการวางแผน และดำเนินการ จัดให้เป็นโครงการหลักขึ้นมา โดยที่ต้องมีการจัดระบบการบริหารจัดการอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน ซึ่งจะต้องได้รับการสนับสนุนจากเจ้าของโรงงานหรือนายจ้าง
  3. กระตุ้นให้คนงานมีความสนใจและมีส่วนร่วม
  4. วางแผนและจัดการดำเนินงาน ในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการป้องกันโรค
  5. กระตุ้นให้คนงานเกิดความตระหนักในปัญหาทางสุขภาพที่ตนเองประสบอยู่ โดยเฉพาะกรณีที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือปรับ เปลี่ยนพฤติกรรมของคนงานได้

Related Posts